20 ปี “แฮร์รี่ พอตเตอร์” กับ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่บนโลกมักเกิ้ล !
ใครจะเชื่อว่าเวลาได้ล่วงเลยมาแล้วถึง 20 ปี นับแต่หนังสือแฮร์รี่พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ (Harry Potter and the Philosopher’s Stone) ได้รับการตีพิมพ์เป็นเล่มแรกในบรรดาวรรณกรรมแนวแฟนตาซีชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่ครองใจนักอ่านทั่วโลก
โจแอนน์ โรว์ลิง ซึ่งเป็นชื่อที่คนทั่วไปรู้จักเธอในตอนนั้น จินตนาการเรื่องราวของพ่อมดน้อยใส่แว่นตาที่ขึ้นรถไฟจากกรุงลอนดอนไปเมืองแมนเชสเตอร์ เธอเขียนต้นฉบับของเรื่องราวที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการสุดลึกล้ำนี้เสร็จในปี 1995 โดยใช้เวลาในการเขียนส่วนใหญ่ตามร้านกาแฟในกรุงเอดินบะระของสกอตแลนด์ ในระหว่างที่ลูกน้อยซึ่งเกิดจากการสมรสครั้งแรกกำลังหลับอยู่ในรถเข็นเด็ก
สถิติน่าสนใจของแฮร์รี่ พอตเตอร์
หลังจากถูกสำนักพิมพ์ปฏิเสธหลายต่อหลายครั้ง ในที่สุดต้นฉบับของเรื่องพ่อมดน้อยดังกล่าวก็ได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์บลูมส์บิวรี โดยเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 1997 คือวันที่แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก และนับแต่นั้นเป็นต้นมา วรรณกรรมชุดนี้ก็ได้รับความนิยมจากเหล่านักอ่านทั่วโลก
เจ เค โรว์ลิง กลายเป็นนักเขียนคนแรกที่กลายเป็นเศรษฐีพันล้าน
แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทั้ง 7 ภาค ขายได้เกือบ 500 ล้านเล่ม ทำสถิติหนังสือขายดีที่สุดตลอดกาล และถูกนำไปแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ถึง 73 ภาษา ทั้งยังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้มหาศาลด้วย ส่งผลให้ เจ เค โรว์ลิง กลายเป็นนักเขียนคนแรกที่กลายเป็นเศรษฐีพันล้าน
การถือกำเนิดของแฮร์รี่ พอตเตอร์ เมื่อ 20 ปีก่อนได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสังคมและวัฒนธรรม
ทำให้เด็ก (และผู้ใหญ่) อ่านหนังสือมากขึ้น
แม้หนังสือจะอยู่คู่กับเรามายาวนานก่อนที่แฮร์รี่ พอตเตอร์ จะถือกำเนิดขึ้น แต่ โรว์ลิง เป็นผู้ที่ทำให้หนังสือกลายเป็นของจำเป็นที่ผู้อ่าน โดยเฉพาะเด็ก ๆ เกิดความต้องการอ่านจนเกือบเข้าขั้นเสพติด
เรื่องนี้พิสูจน์ได้จากการที่ หนังสือแฮรี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน (Harry Potter and the Prisoner of Azkaban) กำหนดเวลาออกวางจำหน่ายในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 1999 ไว้ที่เวลา 15.45 น. เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กนักเรียนในอังกฤษและเวลส์โดดเรียนไปซื้อหนังสือ และอาการติดงอมแงมนี้ยังลามไปถึงผู้ใหญ่ด้วย
ตอนที่ โรว์ลิง ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ที่มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูวส์ในสกอตแลนด์ เมื่อปี 2000 มหาวิทยาลัย ระบุว่า นักประพันธ์หญิงผู้นี้แสดงให้เห็นว่า “วรรณกรรมเยาวชนยังคงมีมนต์เสน่ห์ที่สะกดผู้อ่านได้เสมอ แม้จะต้องแข่งขันกับสิ่งดึงดูดใจอื่น ๆ เช่น โทรทัศน์ เกมนินเทนโด เกมบอย และโปเกมอน”
ทำให้คนหันมาเขียนหนังสือมากขึ้น
แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้รับยกย่องให้เป็นหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเขียนนิยายแนวแฟนตาซีรุ่นใหม่หลายคน หนังสือหลายเล่มได้รับการตีพิมพ์ออกมาด้วยความหวังว่าจะประสบความสำเร็จเหมือนแฮร์รี่ พอตเตอร์ นอกจากนี้ ในโลกออนไลน์ ก็ยังมีนักเขียนที่เขียนเรื่องราวในรั้วโรงเรียนฮอกวอตส์ที่แตกเนื้อหาออกมาจากบทประพันธ์เดิมของโรว์ลิง
ทำให้รถจักรไอน้ำกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง
รถไฟฮอกวอตส์เอ็กซ์เพรส ทำให้คนรุ่นใหม่ตกหลุมรักรถไฟไอน้ำอีกครั้ง และแน่นอนว่า ใครที่ไปเยือนสถานีรถไฟคิงส์ครอสส์ ในกรุงลอนดอน ต้องไม่พลาดที่จะไปถ่ายรูปคู่กับชานชาลาที่ 9 ¾ ซึ่งแฮร์รี่ พอตเตอร์และผองเพื่อนใช้เดินทางไปขึ้นรถไฟฮอกวอตส์เอ็กซ์เพรสนั่นเอง
ทำให้เกิดคำศัพท์ใหม่ในพจนานุกรม
หนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ ทำให้คำว่า “มักเกิ้ล” (muggle) ได้รับการบัญญัติในพจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับอ๊อกซ์ฟอร์ด (Oxford English Dictionary) เมื่อปี 2002 โดยมีความหมายว่า “บุคคลที่ไร้ทักษะเฉพาะตัว หรือคนที่อยู่ในสถานะที่ด้อยกว่า” ส่วนในหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์นั้น มักเกิ้ล หมายถึงคนธรรมดาที่ไร้เวทมนตร์
ทำให้เกิดกีฬาชนิดใหม่
ในเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์นั้น ควิดดิช (Quidditch) ถือเป็นกีฬาของเหล่าพ่อมดแม่มดที่ผู้เล่นต้องขี่ไม้กวาดวิเศษขึ้นไปเล่นอยู่ในอากาศ แต่สำหรับโลกแห่งความจริงนั้น แม้ผู้เล่นจะไม่มีคาถาอาคมแต่พวกเขาก็ใช้วิธีขี่ไม้กวาดวิ่งไปในสนาม โดยกีฬาชนิดนี้เริ่มเล่นครั้งแรกในสหรัฐฯ เมื่อปี 2005 จากนั้นก็ได้รับความนิยมไปทั่วโลก และมีการแข่งชิงแชมป์โลกด้วย
ทำให้เกิดภาพยนตร์ภาคต่อยอดนิยม และการแสดงละครเวที
ความสำเร็จอย่างล้นหลามของหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ ทำให้ค่ายหนังยักษ์ใหญ่นำเรื่องราวการผจญภัยของแฮร์รี่ พอตเตอร์ และผองเพื่อน ไปถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ ซึ่งหนังแฮร์รี่ พอตเตอร์ทั้ง 8 ภาค สร้างสถิติหนังภาคต่อที่โกยรายได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ คือ 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.6 แสนล้านบาท) ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังทำให้ทีมนักแสดงเด็กที่สวมบทตัวละครเอกทั้ง 3 คน คือ แดเนียล แรดคลิฟฟ์, เอ็มมา วัตสัน และรูเพิร์ธ กรินท์ กลายเป็นขวัญใจผู้ชมทั่วโลก นอกจากนี้ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเด็กต้องคำสาป (Harry Potter and the Cursed Child) ได้ถูกนำไปสร้างเป็นละครเวทีที่เปิดการแสดงในกรุงลอนดอนเมื่อปีที่แล้วด้วย