เครดิต ::
http://www.dek-d.com/board/view.php?id=952926อักษรภาษาไทย ฃ กับ ฅ
เหตุใดจึงเลิกใช้
อาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต เขียนไว้ในหนังสือ "ภาษาไทยของเราดี เป็นศักดิ์ศรีของชาติ" สันนิษฐานสาเหตุที่ทำให้เลิกใช้ ฃ (ขวด) และ ฅ (คน) ไว้ว่า คงเนื่องมาจากพิมพ์ดีดภาษาไทยในสมัยแรกๆ ที่แป้นอักษรไม่มี ฃ และ ฅ เนื่องจากก้านอักษรมีไม่พอกับจำนวนสระพยัญชนะและวรรณยุกต์ในภาษาไทย จึงต้องตัดคำบางคำหรือเครื่องหมายตัวออกไปบ้าง
พร้อมอธิบายว่า ฃ พยัญชนะตัวที่ 3 ในพยัญชนะไทย นับเป็นพวกอักษรสูง เรียกชื่อว่า "ขอเขตต์" หรือ "ขอขวด" เข้าในพวกกัณฐชะ (เกิดจากคอ) ใช้เป็นตัวสะกดในมาตรากักได้
บางท่านกล่าวว่า ตั้งขึ้นแทนตัว กษ ในภาษาสันสกฤต ซึ่งอ่านควบเป็นเสียงตัวเดียวกันจากอักษร กษ ซึ่งเขียนหวัดติดกัน สำหรับใช้เขียนคำตัว กษ สันสกฤต เช่น เกษตร กษัตริย์ แต่เดี๋ยวนี้เลิกใช้แล้ว
ส่วน ฅ พยัญชนะตัวที่ 5 ในพวกพยัญชนะไทย เป็นพวกอักษรต่ำ อ่านว่า "คอ" เรียกชื่อว่า "คอกัณฐา" หรือ "คอคน" ออกเสียงอย่างเดียวกับ คอ (คอคิด)
เดิมมีที่ใช้อยู่คำหนึ่ง คือ "ฅอ" ที่หมายความว่า คอคน หรือคอสัตว์ (ไม่ใช่คนเฉยๆ ) มาบัดนี้ใช้ ค (คอคิด) หมดแล้ว เพราะฉะนั้นนับว่าไม่มีที่ใช้เลย และตัว ฅ นี้ ตั้งขึ้นในภาษาไทย ไม่มีในภาษาบาลีสันสกฤต
บางท่านกล่าวว่าความประสงค์ตั้งขึ้นสำหรับใช้คำไทยที่ออกเสียง คอ ทั่วไป เช่น คำ คน ควบ เป็นต้น เพราะตัวคอคิดนั้นตั้งขึ้นแทนตัว ค บาลี ซึ่งมีเสียงเหมือน G ในคำ God ไม่ตรงกับเสียง ค ไทย แต่ไทยออกเสียง ค บาลีไม่ชัด กลายเป็นเสียง ค ไทยไปหมด เลยใช้ตัว คอคิด ทั้งในเสียงบาลีและเสียงไทย ตัว ฅ กัญฐานี้จึงไม่มีที่ใช้
ส่วนพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2493 ได้ให้คำอธิบายคำว่า ฃ (ขวด) และ ฅ (คน) ไว้ว่า
ฃ พยัญชนะตัวที่สามนับเป็นพวกอักษรสูง แต่เดี๋ยวนี้เลิกใช้แล้ว
ฅ พยัญชนะตัวที่ห้านับเป็นพวกอักษรต่ำ เดี๋ยวนี้เลิกใช้แล้ว
ประโยคที่ว่า "เดี๋ยวนี้เลิกใช้แล้ว" จึงทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่าได้มีการประกาศเลิกใช้เป็นทางการแล้ว แม้แต่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ก็บอกไว้เช่นเดียวกับพจนานุกรม ฉบับ พ.ศ.2493 ทุกประการ
เรื่องจึงเป็นด้วยประการฉะนี้