กระทู้นี้ ขอรวมเรื่องต่างๆ ไว้นะคะ ไว้จะมาค่อยๆ โพส ให้ทุกคนได้รู้ ได้อ่าน เกี่ยวกับการศึกษา และ สิ่งรอบตัวค่ะ
วิธีเรียนรู้ภาษาต่างประเทศแบบเป็นเอง ให้เข้าหูเข้าตาตลอดเวลา
วิธีการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศที่ดีที่สุด ก็คือ ให้ได้ยินได้ฟังมันอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะไม่รู้ความหมายของมันก็ตาม
ดร.ปอล ซุลเบอเกร์ นักปราชญ์ทางด้านภาษา มหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ให้เหตุผลว่า แม้จะฟังดูประหลาด เพราะเราไม่รู้เรื่องเลย พวกครูสอนภาษาหลายคนอาจยังฟังไม่ได้ เขาอธิบายเหตุผลว่า ถ้าหากเราต้องการรู้ภาษาสเปน ก็ต้องหมั่นฟังสถานีวิทยุภาษาสเปนทางอินเตอร์เน็ตบ่อยๆ มันจะช่วยให้เราพอจับได้และรู้ศัพท์ใหม่มากขึ้น
ผลการวิจัยของเขาได้ท้าทายทฤษฎีการเรียนรู้ภาษาที่ใช้กันอยู่ เขามีข้อสมมติฐานใหญ่ว่า ปล่อยให้ฟังภาษาใหม่ให้เข้าหูไปเถอะ มันจะไปสร้างโครงสร้างในสมอง ที่สำหรับจะเรียนภาษาใหม่ขึ้นเอง และเสริมว่า
เนื้อเยื่อประสาทที่จำเป็นกับการเรียนและเข้าใจภาษาใหม่ จะพัฒนาตัวเองให้เปิดรับภาษา มันเป็นวิธีเดียวกับที่เด็กทารกเรียนรู้ ภาษาแรกของตน
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
ต่อไป
ความเหงาบาดลึกไม่เพียงต่อจิตใจแต่ยังรวมถึงสุขภาพด้วย
ชี้ความเหงาทำร้ายคนได้เท่าบุหรี่ เสี่ยงโรคหัวใจ-ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
เดลิเมล์ ผู้เชี่ยวชาญเตือนความเหงาทำร้ายคนเราได้พอๆ กับการสูบบุหรี่หรือโรคอ้วน ทำให้ความดันโลหิตพุ่ง ระบบภูมิคุ้มกันโรคอ่อนแอลง นอนหลับยาก และอาจเป็นโรคจิตเสื่อมเร็วขึ้น
คำเตือนเหล่านี้นำเสนออยู่ในที่ประชุมอเมริกัน แอสโซซิเอชัน ฟอร์ ดิ แอดวานซ์เมนท์ ออฟ ไซนส์เมื่อวันจันทร์ (16) โดยจอห์น คาซิออปโป ซึ่งค้นพบว่าความเปล่าเปลี่ยวทำให้สมองผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมามากขึ้น และทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นถึงระดับที่อาจทำให้เกิดหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง
เมื่อเปรียบเทียบสุขภาพของคนที่ปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอกกับคนที่ชอบสังสรรค์ นักวิจัยพบความแตกต่างมากพอๆ กับความแตกต่างระหว่างคนสูบบุหรี่กับไม่สูบ คนที่เป็นโรคอ้วนกับคนที่น้ำหนักปกติ และคนที่ออกกำลังกายกับคนที่ไม่ออกกำลังกาย
ในการศึกษาพบว่า คนที่เหงาที่สุดมีระดับความดันโลหิตสูงกว่าคนที่มีกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นมากที่สุดถึง 30 จุด หรือเท่ากับมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงการเสียชีวิตจากโรคเหล่านี้มากกว่าคนที่มีระดับความดันโลหิตปกติถึงสามเท่า
ฮอร์โมนคอร์ติซอลในระดับสูงยังไปกดทับระบบภูมิคุ้มกันโรค ทำให้คนๆ นั้นอ่อนแอต่อโรคต่างๆ
คนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวยังนอนหลับไม่สนิท ทำให้ระหว่างวันรู้สึกเฉื่อยชา และมีแนวโน้มต้องพึ่งยานอนหลับ
ความเหงายังมีผลต่อสุขภาพอีกมากมาย รวมถึงการเร่งกระบวนการของโรคจิตเสื่อม ซึ่งแม้ยังไม่รู้สาเหตุแน่ชัด แต่เป็นไปได้ว่าสมองอาจไม่มีการผ่อนคลายแบบที่คนที่เข้าสังคมเป็นประจำเป็น
ศาสตราจารย์คาซิออปโปจากมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐฯ กล่าวว่าปรากฏการณ์นี้พบได้อย่างกว้างขวางในสังคมปัจจุบันที่แตกเป็นเสี่ยงๆ ที่ผู้คนสื่อสารกันทางอินเทอร์เน็ตแทนการพบหน้าค่าตากัน
เราต่างอยู่อย่างโดดเดี่ยวมากขึ้น บางทีอาจเป็นเพราะเราอายุมากขึ้น แต่งงานช้าลง มีลูกและเพื่อนสนิทน้อยลง
คาซิออปโปแนะนำให้คนที่อยู่ตามลำพังหาเพื่อนจากการทำงานการกุศล และว่าการมีเพื่อนสนิทไม่กี่คนดีกว่าการมีคนรู้จักก๊วนใหญ่
คนเหงาอาจรู้สึกหิวโหย สิ่งสำคัญก็คือ ต้องตระหนักว่าวิธีแก้ปัญหาไม่ใช่เพียงการหาอะไรใส่ท้อง แต่เป็นการทำอาหารและร่วมดื่มกินกับคนอื่น
คาซิออปโปยังเชื่อว่า พฤติกรรมนี้ฝังรากอยู่ในกระบวนการวิวัฒนาการ กล่าวคือความเจ็บปวดจากความเปลี่ยวเหงาเตือนให้คนที่อยู่โดดเดี่ยวนึกถึงการเข้าร่วมสังคมเพื่อได้รับความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย
เรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องนี้
ยิ่ง เหงา ยิ่ง หนาว ...
ชัดเจน!! ความเหงาพากายใจสั่นสะท้าน
คนที่เหงาหรือถูกทอดทิ้ง มักรู้สึกหนาวเหน็บและต้องการเครื่องดื่มหรือซุปร้อนๆ ช่วยปลอบประโลมใจ
เดลิเมล์ - นักจิตวิทยาพบความเหงาทำให้คนเรารู้สึกเย็นยะเยือกขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ และคนเหล่านี้มักเลือกปลอบโยนตัวเองด้วยซุปหรือกาแฟร้อนแทนที่จะดื่มน้ำอัดลม
ผลศึกษาของมหาวิทยาลัยโทรอนโท แคนาดา บ่งชี้ว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจช่วยคนที่กำลังรู้สึกเปล่าเปลี่ยวในแบบเดียวกับการใช้แสงบำบัดอาการซึมเศร้าตามฤดูกาล (seasonal affective disorder SAD)
งานวิจัยนี้ได้รับการตอบรับจากดร.เลสลี ปรินซ์ ผู้บรรยายวิชาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม อังกฤษ
นี่เป็นงานวิจัยที่น่าสนใจมาก ผมชอบความคิดที่ว่าถ้าคนเรารู้สึกท้อแท้หรืออ้างว้าง คุณอาจช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้นได้ด้วยการทำให้เขาอุ่นขึ้น
ในการศึกษาของนักวิจัยแคนาดา นักศึกษา 65 คนถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มๆ แรกให้เล่าประสบการณ์ส่วนตัวที่รู้สึกว่าตัวเองถูกทอดทิ้งหรือเหงา เช่น ถูกไล่ออกจากชมรม อีกกลุ่มให้เล่าประสบการณ์ของการเป็นที่ยอมรับ
จากนั้น นักวิจัยขอให้นักศึกษาทั้งหมดประเมินอุณหภูมิภายในห้อง ซึ่งปรากฏว่ามีระดับที่ต่างกันมากตั้งแต่ 12-40 องศาเซลเซียส โดยคนที่คิดถึงประสบการณ์อ้างว้างประเมินระดับอุณหภูมิออกมาต่ำมาก
ในการทดลองที่ 2 นักวิจัยขอให้นักศึกษา 52 คนเล่นเกมคอมพิวเตอร์ โดยที่อาสาสมัครบางคนได้บอลบ่อยมาก ขณะที่คนอื่นๆ ไม่ได้บอลเลย หลังจากนั้น อาสาสมัครทั้งหมดต้องจัดอันดับความต้องการกาแฟร้อน แครกเกอร์ น้ำอัดลม แอปเปิล และซุปร้อน
ผลปรากฏว่ากลุ่มที่ ไม่ป๊อปปูลาร์ มีแนวโน้มเลือกซุปหรือกาแฟร้อนมากกว่า
นักวิจัย ชี้ว่า
ดร.เฉินโบซอง ผู้นำการวิจัยซึ่งตีพิมพ์อยู่ในวารสารไซโคโลจิคัล ไซนส์ กล่าวว่า การศึกษานี้พบว่าประสบการณ์ในการถูกกีดกันทางสังคมทำให้เกิดความรู้สึกเหน็บหนาว ด้วยเหตุนี้ คนเราจึงมักใช้อุปมาอุปไมยที่เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิเพื่ออธิบายการมีส่วนร่วมหรือการถูกตัดขาดจากสังคม
มีหลักฐานบางอย่างสนับสนุนความคิดที่ว่า อุณหภูมิที่ลดลงเป็นสาเหตุของอาการซึมเศร้า
นักวิจัยยังระบุว่า การศึกษาชิ้นนี้อาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการรักษาผู้ที่เศร้าสร้อยหรือเหงา
ทิศทางที่น่าสนใจของการวิจัยนี้คือ การพิจารณาว่าประสบการณ์ในการทำให้เป้าหมายอบอุ่นอาจช่วยลดประสบการณ์เลวร้ายจากการถูกผลักไสจากสังคม เช่น การกินซุปร้อน
งานวิจัยเกี่ยวกับอาการซึมเศร้าตามฤดูกาลมุ่งเน้นความเชื่อมโยงระหว่างการทำให้แสงแดดอ่อนลง และแนวโน้มอาการซึมเศร้าระบาดในหน้าหนาว โดยมีหลักฐานบางอย่างสนับสนุนแนวคิดที่ว่า อุณหภูมิที่ลดลงเป็นสาเหตุของประสบการณ์ซึมเศร้าที่รุนแรงขึ้น
งานวิจัยของเราชี้ถึงเหตุผลหนึ่งของการที่อากาศหนาวเย็นในฤดูหนาวอาจเป็นตัวกระตุ้นประสบการณ์ทางจิตใจของการถูกกีดกันทางสังคม
และ อีก 1 เรื่อง
เครื่องดื่ม ร้อน สร้าง เพื่อน
อยากสร้างความประทับใจเมื่อแรกพบ ผลวิจัยแนะหาเครื่องดื่มร้อนๆ มาเสิร์ฟแขก
เอเจนซี - แนะถ้าอยากสร้างความประทับใจเมื่อแรกพบ ให้หากาแฟ ชา หรือช็อกโกแลตร้อนต้อนรับแขก ผลศึกษาชี้คนเรามักรู้สึกดีกับคนแปลกหน้าเมื่อมีถ้วยเครื่องดื่มร้อนๆ อยู่ในมือ
การค้นพบนี้ช่วยอธิบายว่า เหตุใดคนเมืองหนาวที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ มักเลือกเครื่องดื่มร้อนๆ มากกว่าไอศกรีม
นักวิจัยไม่แน่ใจว่า เหตุใดความรู้สึกอบอุ่นทางร่างกายจึงเปลี่ยนมุมมองที่คนเรามีต่อพฤติกรรมของผู้อื่น อาจเป็นไปได้ว่ามนุษย์ถูกตั้งโปรแกรมให้แสวงหาความอบอุ่น และเครื่องดื่มร้อนๆ ไปกระตุ้นต่อมความรู้สึกดีๆ ในสมอง
ดร.จอห์น บาร์ก ศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยเยล และ ดร. ลอว์เรนซ์ วิลเลียมส์ จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด ร่วมกันทำการทดลองเพื่อค้นหาความเกี่ยวโยงระหว่างอุณหภูมิร่างกายและความอบอุ่นในจิตใจ
บาร์ก รายงานในวารสารไซนส์ว่า อุณหภูมิร่างกายดูเหมือนส่งผลไม่เพียงต่อวิธีการที่เรามองคนอื่นๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงพฤติกรรมของตัวเราเองด้วย กล่าวคือทำให้เรามองคนอื่นว่าเป็นคนอบอุ่น และทำให้เราเองรู้สึกอบอุ่นและมีน้ำใจมากขึ้น
ในการทดลอง อาสาสมัคร 41 คนได้รับคำสั่งให้ถือถ้วยกาแฟร้อนหรือกาแฟเย็นขณะขึ้นลิฟต์ทีละคนเพื่อไปยังห้องแล็บเมื่อถึงห้องแล็บ อาสาสมัครจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับคนแปลกหน้า และถูกขอให้ประเมินบุคลิกของคนผู้นั้น
แม้อาสาสมัครทั้งหมดได้ข้อมูลชุดเดียวกัน แต่กลับมีความคิดเห็นต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้ ขึ้นกับว่าอาสาสมัครคนนั้นๆ ถือถ้วยเครื่องดื่มร้อนหรือเย็น กล่าวคือกลุ่มที่ถือถ้วยกาแฟร้อนจะรู้สึกว่าคนแปลกหน้าเป็นคนอบอุ่นกว่าคนที่ถือถ้วยกาแฟเย็น
อย่างไรก็ตาม ความอุ่นของเครื่องดื่มไม่ส่งผลต่อมุมมองที่มีต่อบุคลิกลักษณะอื่นๆ ของคนแปลกหน้า เช่น สติปัญญา ความสำเร็จ และเสน่ห์
ในการทดลองที่ 2 อาสาสมัคร 53 คนถูกขอให้ถือแผ่นความเย็นหรือแผ่นความร้อนสำหรับบำบัด โดยอุปโลกน์ว่าเป็นการทดลองเพื่อประเมินผลิตภัณฑ์การแพทย์หลังตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว อาสาสมัครจะต้องเลือกรางวัลตอบแทนระหว่างการดื่มเครื่องดื่มหรือรับกิฟต์โวเชอร์เพื่อนำไปให้เพื่อน
นักวิจัย พบว่า อาสาสมัครที่ถือแผ่นความร้อนมีแนวโน้มขอรับกิฟต์โวเชอร์ ขณะที่อีกกลุ่มเลือกดื่มเครื่องดื่ม ทำให้เชื่อได้ว่าความอบอุ่นทางร่างกายอาจกระตุ้นให้สมองรู้สึกแง่บวกโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ ยังมีผลวิจัยอื่นๆ ที่บ่งชี้ว่า เนื้อสมองส่วนที่ประมวลผลข้อมูลอุณหภูมิทั้งทางร่างกายและทางอารมณ์เป็นส่วนเดียวกัน
บาร์ก เสริมว่า ความเกี่ยวโยงนี้มีแนวโน้มก่อตัวขึ้นในช่วงวัยเด็ก โดยตั้งข้อสังเกตว่าการเรียนรู้เกี่ยวกับความรักและความใกล้ชิดทางร่างกายของทารก มักเกิดขึ้นขณะที่เด็กน้อยอยู่ในอ้อมกอดอบอุ่นของพ่อแม่
การสำรวจในอดีตยังแสดงให้เห็นว่า คนเราจะรู้สึกหนาวเมื่ออ้างว้างว้าเหว่ และเชื่อว่าอุณหภูมิรอบตัวสูงขึ้นเมื่อจิตใจเป็นสุข
ขอขอบคุณ อีดูโซน
ไว้จะมาอัพ ให้อ่านต่อไปเรื่อยๆ นะคะ