(1). ยิ่งใช้ยิ่งฉลาด
(2). หัวใจดีทำสมองดีไปด้วย
การป้องกันโรคหัวใจมีส่วนช่วยให้สมองดีไปด้วย เช่น การควบคุมอาหารและออกกำลังเพื่อป้องกันโรคอ้วน การตรวจเช็คความดันเลือด-ไขมันในเลือด-น้ำตาลในเลือดเป็นประจำ ถ้าสูงให้รักษาอย่างต่อเนื่อง มีส่วนช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อม
กลไกสำคัญคือ การทำงานหัวใจและสมองต้องอาศัยหลอดเลือดดีๆ เป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุง
(3). อาหารดีและพอดี
อาหารที่ดีกับสมองเป็นอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเน้นไปทางธัญพืชไม่ขัดสี เช่น กินขนมปังโฮลวีท(เติมรำ)แทนขนมปังขาว กินข้าวกล้องแทนข้าวขาว ฯลฯ ผลไม้ทั้งผล(ปั่นรวมกากได้ แต่ไม่ควรดื่มน้ำผลไม้กรองกากออก) ผัก ถั่ว น้ำมันมะกอก(น้ำมันในไทยที่คล้ายน้ำมันมะกอกมากที่สุด คือ น้ำมันรำข้าว)
อาหารดีอย่างเดียวไม่พอ
ต้องขอพอดีด้วย เพราะถ้าอ้วน
หลอดเลือดจะเสื่อมง่าย ทำให้สมองไม่ดี หรือถ้าอ้วนไปแล้ว ควรรีบเปลี่ยนเป็นคนอ้วนฟิต เพราะความฟิต(แข็งแรง)มีส่วนทำให้สมองดี
(4). ออกกำลัง
การออกกำลังกระตุ้นให้มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ๆ รอบๆ เซลล์ประสาท ทำให้ได้ น้ำเลี้ยง ดี และช่วยกระตุ้นให้เซลล์ประสาทงอกกิ่งก้านสาขาไปต่อเชื่อมกัน เปรียบคล้ายการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ดีขึ้น
การเดินเร็ว 1 กิโลเมตรเศษ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ลดเสี่ยงสมองเสื่อมได้ประมาณ 30% (ควรเป็นการเดินเร็ว นาทีละ 100 ก้าว หรือจับเวลา 15 วินาทีแล้วเดินได้ 25 ก้าวขึ้นไป)
(5). งีบสั้นๆ
การนอนสั้นๆ ไม่เกิน 30 นาทียามบ่ายช่วยให้สมองมีเวลาปรับโครงสร้างข้อมูลใหม่ๆ ให้เป็นระบบดีกว่านอนกลางคืนอย่างเดียว
(6). ฝึกไอคิวได้
ไอคิว(IQ)ไม่ใช่ค่าคงที่ หรือตราบาปที่จะบอกว่า ใครโง่อีกต่อไป
คนเราฝึกสมองด้วย 2 มือ 2 เท้าของเราได้ (2 มือ = หยิบหนังสือมาอ่าน; 2 เท้า = เดินให้มาก เนื่องจากสมองดีๆ เริ่มต้นที่เท้าเดิน ไม่ใช่นั่งๆ นอนๆ)
อาจารย์เรสแตกแนะนำว่า วิธีเพิ่ม IQ ดีๆ คือ การอ่านหนังสือดีๆ เช่น วรรณกรรมชั้นเยี่ยม ฯลฯ อ่านบล็อกดีๆ ฯลฯ
ขยายของเขตของความสนใจออกไป เช่น ถ้าอ่านหรือฟังข่าวอะไรแล้วให้นึกถึงภาพแผนที่ประเทศนั้นให้ได้ทันที หรือถ้าฟังข่าวในประเทศให้นึกถึงภาพแผนที่จังหวัดนั้นทันที
ถ้านึกไม่ได้ให้รีบ ค้นคว้าทันที (instant searching) เช่น ถามคุณครูกูเกิ้ล (Google search) ฯลฯ เพื่อให้ความอยากรู้อยากเห็น (curiosity) เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และสมองจะอ่อนเยาว์คล้ายสมองเด็ก
เรื่องต่อไปที่จะพัฒนาสมองได้ คือ ให้เรียนรู้ศัพท์ใหม่ๆ หรือภาษาใหม่ๆ เป็นประจำทุกวัน ซึ่งทำได้โดยการฝึกเปิดพจนานุกรม (dictionary) ทันทีที่พบศัพท์ใหม่ และนึกภาพทันที เช่น ถ้าได้ยินคำว่า swine flu ให้รีบเปิดพจนานุกรม เมื่อแปลเป็น ไข้หวัดหมู ได้ ให้รีบนึกถึงภาพคนเป็นไข้หวัดใหญ่ ภาพหมูในใจ ฯลฯ แล้วค้นคว้าเพิ่มเติมทันทีว่า เรื่องนี้มีข้อมูลอย่างไร
เรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำสอนของ รศ.ดร.นัยพินิจ คชภักดีที่ว่า ความเป็นอัจฉริยะต่างจากความฉลาดตรงที่ว่า อัจฉริยภาพจะทำลาย boundaries หรือกำแพงขวางกั้นองค์ความรู้สาขาต่างๆ ทำให้เกิดเครือข่ายความรู้ภายใน
เวลาคนฉลาดคิดจะคิดเป็นเรื่องๆ หรือ คิดลึก เฉพาะสาขา
แต่อัจฉริยบุคคลจะมีการคิดเป็นเรื่องๆ หรือ คิดลึก สลับกับการ เชื่อมโยง (integrate) องค์ความรู้หลายๆ สาขา(interdisciplinary) อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ สมมติฐาน หรือองค์ความรู้ใหม่ๆ ขึ้น
(7). เล่นเกมส์
สมองคนเราได้รับการออกแบบให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ครั้งละ 1 เรื่อง และจะทำงานได้ดีขึ้นถ้าฝึกสมองด้วยวิธีต่างๆ เช่น เล่นเกมส์ หมากรุก หมากฮอส ฯลฯ
8. เชื่อมโยง
เรียนรู้ให้ ลึก (deep) สัก 1-2 เรื่อง โดยเฉพาะสาขาวิชาชีพที่เราทำงานต้องรู้ให้ลึกและรู้ให้มาก
หลังจากนั้นให้ขยายมิติของความรู้ออกไปในแนวนอน หรือแนว กว้าง (wide) เช่น เมื่อฟังหรืออ่านข่าวประเทศอะไรหรือจังหวัดอะไร ให้นึกให้ได้ว่า แผนที่ประเทศหรือจังหวัดนั้นๆ อยู่ที่ไหน ผู้คนมีหน้าตาอย่างไร นับถือศาสนาอะไร สวมเสื้อผ้าอย่างไร นิสัยใจคอเป็นอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร ฯลฯ (ปัจจุบันทำได้ง่าย เนื่องจากมีบริการสารานุกรรมวิกิพีเดียภาคภาษาไทยพร้อมแผนที่)
เปรียบเทียบ เช่น เมื่อได้ยินชื่อประเทศให้ลองเปรียบเทียบดูว่า ขนาด(พื้นที่) ประชากร หรือข้อมูลอื่นๆ เป็นกี่เท่า มากหรือน้อยกว่าประเทศที่เราอยู่(ไทย) ฯลฯ
(9). สนใจเรื่องใหม่ๆ
การมีงานอดิเรก และตั้งใจทำงานอดิเรกให้เก่งมีส่วนช่วยขยายขอบเขตขององค์ความรู้ให้กว้างและลึกลงไปในเรื่องอื่นๆ
ศาสตราจารย์ปีเตอร์ ดรัคเกอร์ ศาสตราจารย์ 4 สาขาวิชา (เน้นด้านการจัดการ) เขียนในหนังสือเล่มหนึ่งว่า ท่านจะสนใจและค้นคว้าเรื่องใหม่ๆ แบบเจาะลึกไปทุกๆ 3 ปี ชีวิตการทำงานของท่าน 80 ปีจึงมีองค์ความรู้ที่สะสม และเชื่อมโยงได้อย่างกว้างขวาง (ท่านทำงานจนถึงอายุประมาณ 92 ปี หรือปีสุดท้ายที่เสียชีวิต)
เครดิต :
http://health.buddythai.com/archives/447