การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ภาวะโลกร้อน) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่โชคดีที่เรามีทางออกด้านพลังงานที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว ที่เราสามารถนำไปมาใช้ในปัจจุบัน เพื่อสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน และผลิตพลังงานให้กับทุกคนได้ การเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้เร็วพอที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดที่เกิดจากโลกที่กำลังร้อนขึ้นได้หรือไม่ คุณเป็นผู้ที่จะช่วยตัดสินคำตอบของคำถามนี้
เราทุกคนต่างทราบถึงสาเหตุของภาวะโลกร้อนเป็นอย่างดี นั่นคือ การที่มนุษย์เผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และ ก๊าซธรรมชาติ เพื่อผลิตพลังงาน เราต่างทราบดีถึงผลกระทบบางอย่างของภาวะโลกร้อน เช่น การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ความแห้งแล้งอย่างรุนแรง การแพร่ระบาดของโรคร้ายต่างๆ อุทกภัย ปะการังฟอกขาว และ การเกิดพายุรุนแรงฉับพลัน โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ประเทศตามแนวชายฝั่ง ประเทศที่เป็นเกาะ และ ภูมิภาคที่กำลังพัฒนาอย่างเอเชียอาคเนย์
การรณรงค์เรื่องภูมิอากาศและพลังงานเป็นงานที่ต้องเผชิญกับความท้าทายจากอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ด้วยเหตุนี้ ทางกรีนพีซพยายามผลักดันการใช้พลังงานสะอาดแทนการพึ่งพาพลังงานสกปรก ตัวอย่างเช่น การสนับสนุนนโยบายและโครงการผลิตพลังงาน ได้แก่ พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ให้แพร่หลาย และรณรงค์ให้เปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือก (พลังงานหมุนเวียน) อย่างมีประสิทธิภาพ
สินค้ายี่ห้อดัง"ปรุงโลกให้ร้อนขึ้น"น้ำมันปาล์มจากการทำลายป่าพรุถูกส่งโดยปิดบังแหล่งที่มาผ่านทางเครือข่ายเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (supply chain) ของยี่ห้อสินค้าระดับโลกอย่างเช่น ฟลอร่า พริงเกิ้ล และคิทแคท และ บริษัทข้ามชาติหลักๆ ได้แก่ ยูนิลีเวอร์ เนสท์เล่ และพร็อกเตอร์ แอนด์ แกมเบิ้ล ระบุว่าบริษัทเหล่านี้ได้ “ปรุงโลกให้ร้อน” โดยไม่สนใจการทำลายป่าพรุเพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำมันพืชราคาถูก
“การตรวจสอบนี้แสดงให้เห็นว่าท้ายที่สุดแล้ว บริษัทนานาชาติเพียงไม่กี่แห่งนี้เป็นผู้ทำลายและเผาป่าพรุของอินโดนีเซียเพื่อนำไปผลิตอาหาร น้ำมัน และน้ำยาซักผ้า สินค้ายี่ห้อที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดบางยี่ห้อได้กำลังเพิ่มความร้อนให้กับภูมิอากาศอย่างแท้จริง” บริษัทเหล่านี้ได้สวนทางกับความตระหนักในระดับโลกเรื่องภาวะโลกร้อนโดยการลงทุนส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อเป็น “เชื้อเพลิงชีวภาพ” ในขณะที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังกำหนดเป้าหมายสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและใช้แทนน้ำมันเบนซิลและดีเซลที่ใช้กันทั่วไป การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพแทนน้ำมันนั้นช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ก็จริง แต่เทียบกันไม่ได้เลยกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมหาศาลจากการทำลายป่าพรุเพื่อทำปาล์มน้ำมัน
“การทำลายป่าฝนเขตร้อนเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันนั้นเป็นการทำร้ายภูมิอากาศอย่างร้ายกาจ” แพท เวนดิตติ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ด้านป่าไม้ของกรีนพีซสากลกล่าว “หากไม่มีมาตรการป้องกันเพื่อหยุดการผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อตอบสนองความต้องการน้ำมัน นั่นแสดงว่ารัฐบาลกำลังพยายามให้เกิดการทำลายป่าฝนเขตร้อน และเพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยอ้างว่าเป็นการปกป้องสภาพภูมิอากาศ”
การเผาทำลายป่าและป่าพรุที่กำลังจะพัฒนาเป็นปาล์มน้ำมันในประเทศอินโดนีเซียนี้เป็นตัวการหลักที่สำคัญที่ทำให้เกิดหมอกควันพิษ ซึ่งปกคลุมพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกปี
การทำลายป่าเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก 1 ใน 5 การทำลายป่าพรุของอินโดนีเซียแห่งเดียวปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 4% ต่อปี รายงานฉบับนี้สรุปว่าการหยุดถางป่าและทำให้ป่าพรุเสื่อมสภาพเป็นหนทางที่รวดเร็วที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดที่จะหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอินโดนีเซีย นอกจากนี้การฟื้นฟูป่าพรุที่เสื่อมสภาพแล้วยังคุ้มทุนกว่าอีกด้วย
ที่มา กรีนพีช (ข้อมูลเพิ่มเติม
http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/1506220)