ชิคุนกุนยา ไวรัสสายพันธ์ใหม่แพร่จากยุงลาย
ชี้ไม่มียารักษาแค่ประคับประคองตามอาการเท่านั้น
ระบาดอีกแล้ว!!! โรคที่มาพร้อมกับยุง.... เมื่อบอกอย่างนี้หลายคนคงนึกถึงโรคไข้เลือดออก ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ไข้มาเลเรีย ที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค แต่ที่น่าตกใจเพราะตอนนี้ไม่ได้มีเพียงแค่นี้เท่านั้นแต่กลับมีโรคที่มีชื่อแปลกๆ ว่า ชิคุนกุยา มาทำความรำคาญและแพร่ระบาดหนักอยู่ในภาคใต้ของประเทศเราอยู่
สถานการณ์ล่าสุด!!! หลังจากพบผู้ป่วยที่มีอาการเหมือนติดเชื้อไวรัสชิคุกุนยา ใน 2 จังหวัดภาคใต้ คือจังหวัดนราธิวาสและปัตตานี ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค เร่งส่งเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งทีมเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพื้นที่และเฝ้าระวังโรคดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อหาทางยุติการแพร่ระบาดของโรคนี้
... เชื่อได้เลยว่าหลายคนยังคงไม่คุ้นหูกับโรคชิคุนกุนยา ไม่รู้ว่ามันเป็นโรคอะไร?
บ้างก็แตกตื่นคิดว่าเป็นโรคสายพันธ์ใหม่ แต่จริงๆ แล้วโรคนี้มีมานานแล้ว โดยถิ่นกำเนิดแรกของมันอยู่ที่ทวีปอาฟริกา และแพร่ระบาดไปหลายประเทศๆ ทั่วโลก หนึ่งในนั้นก็รวมประเทศไทยของเราด้วย ซึ่งตรวจพบโรคชิคุนกุนยาครั้งแรกพร้อมกับที่มีไข้เลือดออกระบาดและเป็นครั้งแรกในทวีปเอเชีย
น.พ.หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ออกมาบอกถึงโรคดังกล่าวว่า ชิคุนกุนยา เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ส่วนใหญ่แล้วในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่ ซึ่งอาการที่เด่นชัดในผู้ใหญ่คืออาการปวดข้อ ซึ่งอาจพบข้ออักเสบได้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อจะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ (migratory polyarthritis) อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงช็อก ซึ่งแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก ที่อาจพบ tourniquet test ให้ผลบวก และจุดเลือดออก (petichiae) บริเวณผิวหนังได้
สาเหตุการติดต่อ!! โรคนี้ติดต่อกันได้โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุงและเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลายเมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัดทำให้คนนั้นเกิดอาการของโรคได้
ระยะการฟักตัว!!! โดยทั่วไปจะมีการฟักตัวประมาณ 1-12 วัน แต่ที่พบบ่อยประมาณ 2-3 วัน ระยะติดต่อคือระยะไข้สูงประมาณวันที่ 2-4 ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก สำหรับอาการและอาการแสดง ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน ร่วมกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกหรือข้อ ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หรือมีเลือดออกตามผิวหนัง และอาจมีอาการคันร่วมด้วย พบตาแดง แต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว
แม้อาการนำของโรคชิคุนกุนยา จะคล้ายโรคไข้เลือดออกหรือหัดเยอรมัน แต่ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อก หรือเลือดออกมาก โรคชิคุนกุนยาพบมากในฤดูฝน และทุกกลุ่มอายุ ซึ่งต่างจากโรคไข้เลือดออกและหัดเยอรมันที่มักพบในผู้อายุน้อยกว่า 15 ปี
ดูแล้วเหมือนมันอาจจะไม่ค่อยรุนแรงเหมือนโรคไข้เลือดออกสักเท่าไหร่ แต่ถึงแม้มันจะไม่สามารถคร่าชีวิตคนเราไปได้ แต่เราก็ควรที่จะระมัดระวังเอาไว้ โดยเฉพาะลูกเด็กเล็กแดงที่อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้ง่าย อีกทั้งช่วงนี้ฝนตกบ่อยทำให้มีน้ำขัง เหมาะแก่การเจริญเติบโตของยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรคอีกด้วย
ส่วนวิธีป้องกันนั้น!!! ถึงแม้ทุกวันนี้ยังไม่ยาหรือวัคซีนตัวใดที่ใช้รักษาได้โดยตรงทั้งโรคไข้เลือดออกและโรคชิคุนกุนยา ดังนั้นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ถ้ามีไข้สูง ก็ให้ยาลดไข้ หรือลดอาการปวดข้อ และพักผ่อนให้เพียงพอก็สามารถบรรเทาอาการไปได้ แต่อย่างไรก็ตามการป้องกันการแพร่พันธุ์ของยุงเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ต้องหมั่นตรวจดูที่เก็บกักน้ำ ไม่ว่าจะเป็น บ่อ กะละมัง เพราะเป็นแหล่งที่ยุงออกไข่ จึงจำเป็นต้องมีฝาปิด ที่ใดที่จำเป็นต้องมีน้ำขังอยู่ก็ให้ใส่ทรายอะเบทลงไปเพื่อป้องกันการวางไข่ และควรเลี้ยงปลาในอ่างที่ปลูกต้นไม้ หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เพราะปลาจะกินลูกน้ำเป็นอาหาร
แต่นอกเหนือจากการป้องกันการแพร่พันธ์ของยุงแล้ว ตัวเราเองก็ต้องป้องกันตัวเราไม่ให้ถูกยุงกัดด้วย ควรติดมุ้งลวดในบ้าน หรือทายากันยุงขณะทำงานและออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัดตอนกลางวัน และที่สำคัญต้องเฝ้าสังเกตคนในบ้านว่ามีไข้และอาการคล้ายกับโรคชิคุนกุนยาหรือไม่ หากมีก็ให้รีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน
ถึงแม้ว่าวันนี้ โรคชิคุนกุนยาจะเป็นโรคใหม่ที่มีชื่อไม่คุ้นหูนัก แต่หากปล่อยให้แพร่ระบาดไปสู่วงกว้างอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเศรษฐกิจได้ ... วันนี้เพียงป้องกันยุงลาย นอกจากจะป้องกันไข้เลือดออกแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคชิคุนกุนยา
ที่มา
http://www.thaihealth.or.th/node/6323